Wednesday, May 20, 2015

การศึกษาการเตรียมตัวและความพร้อมทางด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน

ชื่องานวิจัย
" การศึกษาการเตรียมตัวและความพร้อมทางด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซ๊ยนในปี พ. ศ. 2558"


งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก ศูนย์วิจัย แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2554-2555

รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ หาอ่านได้จาก

http://libdoc.dpu.ac.th/research/149789.pdf


วัตถุประสงค์ (Aim)

- ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพร้อม(Readiness) และการเตรียมตัว (Preparation) ทางด้านการศึกษา (Education) เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 อย่างไร และมีความพร้อม มาก-น้อยเพียงใด

- นำเสนอข้อเสนอแนะทั้งในเชิงนโยบายและการดำเนินงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย


วิธีการศึกษา (Method)   -- งานวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research)

อาศัยข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่หลากหลายเช่น รายงาน เอกสาร (Desk Study)
การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ (Interviews of experts)

ผู้เชี่ยวชาญที่ 4 ท่านได้แก่

1. ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล (สัมภาษณ์วันที่ 10 มิถุนายน 2554)
2. นายเทพชัย หย่อง (ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส)
3. ดร. วรัยพร แสงนวบวร (ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการศึกษาระหว่างประเทศ สภาการศึกษา)
4. รศ. ดร. วิทยา จีระเดชากุล (ผู้อำนวยการ SEAMEO Secretariat) สัมภาษณ์วันที่ 13 มีนาคม 2555)


ผลการศึกษาโดยสังเขป (Summary of Findings)


ชาติสมาชิกทั้ง 10 อันได้แก่

1. บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)
2. ราชอาณาจักรกัมพูชา (The Kingdom of Cambodia)
3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (The Republic of Indonesia)
4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (The Lao People’s Democratic Republic)
5. สหพันธรัฐมาเลเซีย (The Federation of Malaysia)
6. สหภาพเมียนมาร์ (The Union of Myanmar)
7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (The Republic of the Philippines)
8. สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore)
9. ราชอาณาจักรไทย (The Kingdom of Thailand)
10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Viet Nam)


ต่างมีการเตรียมตัวในเชิงนโยบายเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

มีความพร้อมมาก-น้อยแตกต่างกัน

จากการศึกษาค้นคว้า สรุปได้ว่า สภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของภูมิภาคอาเซียนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลมาจากกระบวนการโลกาภิวัตน์และภูมิภาคภิวัตน์ (Globalization and Rationalization)



การพิจารณาถึงการเตรียมตัวและความพร้อมทางด้านการศึกษา ผู้วิจัยกำหนดกรอบการวิจัยในการศึกษาเอาไว้ 7 ด้านคือ

1. ด้านนโยบายทางการศึกษา (National Policy)
2. ด้านความพร้อมของครูและบุคลากรทางการศึกษา (Teachers)
3. ด้านหลักสูตรและเนื้อหา (Curriculum and Contents)
4.  ด้านการสอน (deliveries)
5. ด้านการบริหารจัดการทางการศึกษา (Management)
6. ด้านสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา (Environment)
7. ด้านคุณภาพของนักเรียน - นักศึกษา

1. .ในส่วนของนโยบายทางการศึกษาระดับประเทศนั้น พบว่าทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยมองว่าการพัฒนาคนในชาติคือการพัฒนาประเทศ ทุกชาติสมาชิกมีการระบุถึงการพัฒนาทั้งด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ยกตัวอย่างของประเทศไทย ไทยมีการกำหนดคุณลักษณะของพลเมืองที่พึงประสงค์เอาไว้ในแผนการศึกษาของชาติ หลักสูตรแกนกลาง ที่เน้นการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพัฒนากระบวนการคิด ทักษะชีวิต เป็นต้น

2. ด้านความพร้อมและการเตรียมตัวของบุคคลากรทางการศึกษา ครูยังมีความพร้อมน้อยในเรื่องความรู้และทักษะอาเซียน ยกเว้นบางประเทศที่มีความพร้อมสูงเช่น สิงคโปร์ บรูไนหรือมาเลเซีย

ในประเด็นนี้พบว่า บางประเทศมีงบประมาณในการพัฒนาครูน้อย ครู/อาจารย์ได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนไม่มากนัก

อีกประเด็นคือ บทบาทของครูที่เปลี่ยนแปลงไป จากการมีบทบาทสูงมาสู่การมีบทบาทแคบกว่าเดิม

3. ด้านหลักสูตรและเนื้อหา พบว่ามีการบูรณาการสาระเกี่ยวกับอาเซียนในรายวิชา เช่นของประเทศไทย โรงเรียนตามชายแดนเริ่มสอนภาษาอาเซียน

หลักสูตรระดับปฐมศึกษาของสิงคโปร์ มุ่งเน้นการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้แก่นักเรียน เน้นการปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับเด็ก พร้อม ๆ ไปกับการให้ความรู้ทางวิชาการ

4. การสอน พบว่าส่วนใหญ่ยังเน้นการสอนแบบดั้งเดิมคือยึดเอาครูเป็นศูนย์กลาง (teacher-centered instruction) มีการใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร้กี่ยวกับกิจกรรมของอาเซียนให้พลเมืองของตนเองได้รับรู้

5. ด้านการบริหารจัดการ พบว่า ทุกประเทศมีระบบการบริหารการศึกษาที่สอดรับกับนโยบายทางการศึกษาของชาติ

ชาติสมาชิกมีปัญหาและอุปสรรค ความท้าทายที่แตกต่างกัน อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ และมีลักษณะประเทศเป็นเกาะมากมาย มีจำนวนนักเรียนมาก จึงประสบปัญหาการบริหาร การจัดสรรงบประมาณ หากเทียบกับมาเลเซียที่มีความคล่องตัวมากกว่า

6. ด้านสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

7. ด้านคุณภาพของการศึกษา พบว่ามีความแตกต่างกัน ในมิติของภาษาอังกฤษ โอกาสในการเรียนรู้และศึกษาต่อ การเข้าถึงการศึกษา บางประเทศ เช่น สิงคโปร์มีผลการสอบตามที่วัดโดยข้อสอบมาตรฐานระหว่างประเทศสูง เช่นผลสอบ PISA

ในส่วนของการสอนและด้านสาระนั้น งานวิจัยนี้ได้เสนอโมเดลเพื่อการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ของไทย ดังนี้

1. ภาษาและวัฒนธรรม (Languages and Cultures)
2. ความรู้ (Knowledge)
3. ทักษะที่จำเป็นสำหรับประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
4. ความเชื่อและเจตคติ (Beliefs and Attitudes)

การสร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนหมายถึงการที่พลเมืองอาเซียนมีความรู้และทักษะทางภาษาที่หลากหลาย นโยบายเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทุกประเทศเน้นการเรียนการสอนภาษาสากล เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาที่มีบทบาททางเศรษฐกิจเช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ทั้งนี้ต้องไม่ละเลยการเรียนรู้ภาษาประจำชาติและให้ความสำคัญกับภาษาถิ่นในชาติของตน

สำหรับบริบทของไทยเรานั้น เราควร

"อนุรักษ์ภาษาถิ่น เช่น ภาษาเยอ ญอ กุย
เก่งภาษาไทย
ได้ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาสากลอื่น ๆ เช่น ภาษาจีน หรือญี่ปุ่น)
กระชับมิตรฟุตฟิตภาษาเพื่อนบ้าน"


การเตรียมความพร้อมทางด้านความรู้หมายถึงความรู้ในเนื้อหาวิชา ทั้งวิชาพื้นฐานและวิชาเฉพาะ เช่นความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเช่น กฎบัตรอาเซียน  ความรู้ที่ว่านี้นั้นยังรวมความถึงความรู้เกี่ยวกับชาติของตนเอง ประวัติศสตร์ องค์ประกอบของรัฐ เช่นของไทยก็ควรรู้เรื่องเมืองไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์


ในส่วนของทักษะอาเซียนและทักษะสากลนั้น หมายถึง ทักษะข้ามพิสัยต่าง ๆ เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบ การมีจิตอาสา การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา ทักษะไอซีที (ICT skills) การเจรจาต่อรอง การสื่อสาร การจัดการความขัดแย้ง เป็นต้น ทักษะเหล่านี้สำคัญมากในการพัฒนาพลเมืองของแต่ละประเทศ พบว่าในหลักสูรและนโยบายของทุกประเทศในอาเซียนเน้นการพัฒนาทักษะเหล่านี้ นอกเหนือไปจากความรู้ทางวิชาการและเนื้อหาวิชา


ที่สำคัญไม่แพ้ความรู้และทักษะคือ เจตคติและความเชื่อ การศึกษาครั้งนี้พบว่า ความเชื่อและเจตคติของประชาชน พลเมืองในชาติมีความสัมพันธ์สูงต่อความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศนั้น ๆ เช่น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ มีทัศนคติทางบวก หรือทางที่ดีต่อการสร้างประชาคมอาเซียนเนื่องจาก พลเมืองของทั้งสองชาติมองเห็นโอการในการเดินทางทำมาหากินในภูมิภาค พลเมืองชาวฟิลิปปินส์มีความสามารถทางภาษาอังกฤษดีโดยเฉลี่ย และมีค่านิยมในการเดินทางเพื่อแสวงหาโอกาสในชีวิตมานานแล้ว ฟิลิปปินส์จึงมีความพร้อมสูงไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือประชาคมโลก

ในมิติของเจตคติและความเชื่อนี้ ยังหมายถึงความคิดเห็น ความเชื่อที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ต่อส่วนรวมของชาติและของอาเซียน


สรุป

สิ่งที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ คือการได้มาซึ่งกรอบความคิดในการอธิบายองค์ประกอบของการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษาเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การวิเคราะห์เอกสารและข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญสรุปได้ว่า ในทางการศึกษาทุกชาติสมาชิกมีการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศให้สอดรับการการเปลี่ยนแปลงของโลกและของภูมิภาค งานวิจัยยังนำเสนอองค์ประกอบทั้งสี่ด้านของการพัฒนาพลเมืองอาเซียน

หากต้องการสร้างพลเมืองที่มีสมรรถนะ ทั้ง 4 ด้าน สิ่งที่แต่ละชาติควรทำในมิติของการศึกษา คือ การพัฒนาในเชิงรุกในมิติต่อไปนี้ กล่าวคือ สาระ การสอน การบริหารจัดการและสิ่งแวดล้อม

ทุกชาติสมาชิกต่างเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่การบูรณาการในระดับภูมิภาคหรืออาเซียน ในมิติที่หลากหลาย ทุกประเทศให้ความสำคัญสูงในการพัฒนาศักยภาพของพลเมืองของตน กลไกของอาเซียนเองก็ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน การติดต่อไปมาหาสู่กับ เช่นการยกเว้นวีซ่า การจัดบริการรถสาธารณะระหว่างชาติสมาชิก เป็นต้น


อ้างอิง

http://www.dpu.ac.th/dpurc/assets/uploads/news/6i5jbv99usg0so.pdf

http://libdoc.dpu.ac.th/research/149789.pdf





No comments:

Post a Comment

ประเด็นเรื่องการสอนคำหยาบคาย (Issues of SOTL in ELT) ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ

การจัดการกับคำหยาบ (Profane Language) ในการสอนภาษาอังกฤษ: แนวทางและข้อคิดเห็น Janpha Thadphoothon, Ed D  ในสถานการณ์การสอนภาษาอังกฤษ (ELT) ท...